สร้างลูกให้พร้อมเผชิญโลกอย่างเข้มแข็ง
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปเป็นยุคที่คนเติบโตมาอย่างเอกเทศมากขึ้น จะด้วยอิทธิพลของเทคโนโลยี Virtual Reality, AI, หรือ Social Media ก็ตามที่ทำให้คนสามารถคุยและติดต่อกันได้โดยที่ไม่ได้เจอหน้ากันจริงจัง ก่อให้เกิดเรื่องราวมากมายที่มีผลร้ายกับเด็กๆในทุกวันนี้ เช่นการแกล้งกันบนโลกไซเบอร์ (Cyber Bullying)
พ่อแม่ควรเตรียมตัวลูกให้พร้อม มีความมั่นคง และแข็งแกร่งมากพอในการเผชิญกับสิ่งต่างๆที่จะเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต ครอบครัวมีส่วนช่วยอย่างมากในการสร้างความเชื่อมั่นในตนเองให้กับเด็ก เด็กที่มีความเชื่อมั่นในตนเองจะสามารถเติบโตอย่างมั่นคง และสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆที่เกิดขึ้นในอนาคตได้และไม่ยอมแพ้ไปเสียก่อน

ก่อนอื่น คำว่า Self Esteem ความเชื่อมั่นในตัวเอง และคำว่า Self Confidence ความมั่นใจในตัวเอง เป็นคำศัพท์ 2 คำที่ใกล้กันมาก แต่ก็มีความหมายต่างกัน
ความเชื่อมั่นในตัวเอง หมายถึงการมองว่าตัวเองนั้นมีคุณค่าในความเป็นตัวของตัวเอง เชื่อว่าตนเองสามารถสร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น และสามารถสร้างสุขให้ตัวเองได้เมื่อยามที่มีความรู้สึกแย่ ท้อแท้ สิ้นหวัง ความเชื่อมั่นในตัวเองนั้นสำคัญมากในยุคสมัยนี้ เพราะเราจะทำให้เราสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ล้มแล้วลุกขึ้นใหม่ได้ด้วยตัวเอง
ความมั่นใจในตัวเอง เป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งต่อสาธารณะ คนที่มีความมั่นใจในตัวเองมาก อาจจะเป็นคนที่สามารถพูดในที่สาธารณะต่อหน้าคนหมู่มากได้ เช่น นักร้อง นายกรัฐมนตรี คนที่มีความมั่นใจในตัวเอง จะตัดสินใจอะไรออกไปก็จะมั่นใจว่าสิ่งนั้นถูกต้อง และยืนหยัดอยู่ได้ในหลักการที่ตนเชื่อมั่น

จริงๆแล้วความมั่นใจในตัวเอง ก็สร้างมาจากความเชื่อมั่นในตัวเองด้วย และ การสร้างคนให้มีความเชื่อมั่นในตัวเองก็เริ่มจากครอบครัวและคนใกล้ชิด กล่าวคือ ก่อนอื่น พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่า เด็กก็คือเด็ก และเด็กแต่จะคนมีพัฒนาการตามวัยของตัวเอง จะเร็วจะช้าไม่เท่ากัน มาตรฐานพัฒนาการต่างๆที่คุณพ่อคุณแม่อ่านมาจากเวปไซต์ หนังสือ หรือบทความต่างๆ อาจจะต่างจากความเป็นจริงที่เราประสบ
บางครั้งเราผู้เป็นพ่อแม่ รู้สึกว่า
"โอ... ลูกเราเก่ง พัฒนาการไวกว่าที่หนังสือเขียนไว้ตั้งเยอะ พูดเร็วกว่าที่ หนังสือบอกไว้ตั้ง เดือนแน่ะ!"
หรือคุณพ่อคุณแม่บางท่านอาจจะบอกว่า
"ลูกเราเก่งจัง ดูสิ เขียนหนังสือได้เร็วกว่าที่หนังสือบอก และเท่าที่เห็น ลูกเราเขียนสวยกว่าเพื่อนๆที่อยู่ในห้องอีกนะ!"
สิ่งที่ถูกเขียนมาในหนังสือเป็นค่าเฉลี่ยทั่วไป อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับสิ่งที่ลูกเป็น อย่างไรก็ตาม หากลูกมีพัฒนาการช้ากว่าที่หนังสือบอก หรือมองดูแล้วช้ากว่าเพื่อนๆในวัยเดียวกัน คุณพ่อคุณแม่อาจจะลองปรึกษาคุณหมอพัฒนาการเด็กดูว่ามีสิ่งใดผิดปกติหรือไม่ หากไม่มีอะไรผิดปกติ เด็กปกติก็อาจมีพัฒนาการบางด้านช้ากว่าเพื่อนๆในวัยเดียวกันได้ ที่สำคัญ คุณพ่อคุณแม่อย่านำไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่น
ด้วยความที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป เข้าสู่ยุคของ Social Media ใครทำอะไร ก็รู้กันไปหมด ... ลูกพูดได้ ลูกเดินได้ ลูกได้รับรางวัลเรียนดี ลูกแข่งกีฬาได้เหรียญทอง ลูกได้รับเลือกเป็นตัวแทนโรงเรียน... คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกไม่ได้มีมุมที่จะโพสต์ออกอากาศแบบนั้น บางทีอาจจะรู้สึกกดดันว่าทำไมลูกฉันไม่มีอะไรให้ชั้นภูมิใจเลย อาจจะรู้สึกถูกเปรียบเทียบ และเมื่อพ่อแม่ไม่มั่นใจในตัวลูก ก็ยากที่ลูกจะมีความเชื่อมั่นในตัวเอง หากแต่ยังมีสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ

ยอมรับในสิ่งที่ลูกเป็น
สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้เพื่อสร้างลูกที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองคือ ขั้นแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมรับลูกในแบบที่เค้าเป็นเสียก่อน ลูกเป็นคนยังไง เช่น เป็นเด็กเรียบร้อย ชอบเก็บตัว ไม่ชอบสังคมกับคนเยอะมาก คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรจะผลักดันเค้าไปอยู่ในที่ๆเค้าไม่สบายใจ หรือหากลูกเป็นคนชอบเล่นสนุกเฮฮา ชอบอยู่กับเพื่อน ไม่ค่อยชอบอ่านหนังสือ เล่นกีฬาไม่เก่ง จริงๆการที่เค้าเป็นคนอารมณ์ดี มีเพื่อนห้อมล้อม ก็เป็นข้อดีของเค้าไม่ใช่หรือ
พัฒนาจุดแข็งอย่างต่อเนื่อง
หากคุณพ่อ คุณแม่มองแล้วว่าจุดแข็งของลูกคือ ลูกชอบเรียน ก็ไม่น่าจะแปลกอะไรที่จะส่งเสริมให้ลูกได้เรียนพิเศษบ้าง อ่านหนังสือบ้าง หรือเข้าอบรมวิชาการต่างๆบ้างตามความเหมาะสม แต่สิ่งเหล่านี้ หากไปยัดเยียดให้กับเด็กอีกคนที่ไม่ชอบเรียนในห้องเรียนเลยอาจจะเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี การเรียนรู้สำหรับเด็กบางคนอาจจะมาจากประสบการณ์ตรง การได้ไปทำอะไรจริงๆนอกห้องเรียน ได้ไปสวนน้ำ ก็รู้เกี่ยวกับ วัน เวลา สายลม อากาศ และหลักฟิสิกส์ต่างๆอีกมากมาย การซื้ออาหารทานเอง บวกลบเลข รอตังค์ทอน ก็เป็นอะไรให้เรียนรู้นอกห้องเรียนตลอดเวลา คุณพ่อคุณแม่ลองหาสิ่งที่ถูกจริตลูกดู แล้วใช้การพูดคุยสอดแทรกก็จะทำให้ลูกเรียนรู้ได้มากเท่าๆกับการเรียนในห้องเรียนเลยทีเดียว
สนับสนุนพฤติกรรมเชิงบวก
เมื่อลูกทำอะไรที่เป็นสิ่งดี เช่นอยากช่วยถูบ้าน ก็ชมเชยลูกได้ หากลูกยังเล็กเกินไป แล้วคุณแม่คุณพ่อมองเห็นว่าสิ่งที่ลูกอยากช่วยทำมันอันตราย เช่น ลูก 3 ขวบอยากช่วยรีดผ้า ก็อาจจะหาเตารีดปลอมๆ มาให้ลูกนั่งรีดผ้าข้างๆ ชมเชยที่เค้าอยากช่วย ให้เหตุผลว่าทำไมยังไม่ถึงเวลาที่เค้าควรจะทำได้ และหาโอกาสให้เค้าลองทำโดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูอย่างใกล้ชิดไม่ให้เกิดอันตราย ก็จะช่วยให้เค้ามั่นใจได้ว่า คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้มองว่าเค้าเป็นคนด้อยความสามารถ แต่คอยสนับสนุนความคิดของเค้าอย่างเหมาะสม
ช่วยเหลือลูกตามความเหมาะสม
หลายๆครั้งที่คุณพ่อคุณแม่รู้สึกได้ว่าลูกแปลกไป เช่นลูกดูเหนื่อยเมื่อกลับจากโรงเรียน เป็นอย่างนี้ติดต่อกันมาสองสามวันแล้ว หากเป็นไปได้ คุณแม่ลองถาม ลองพูดคุย หากสาเหตุดูจากลูก อาจจะทำให้ลูกรู้สึกสบายใจขึ้น การสร้างความไว้วางใจจากลูกนั้นไม่ง่าย ที่สำคัญหากลูกเล่าให้คุณฟังแล้ว คุณไม่สบายใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับลูก คุณควรจะใช้วิธีการแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างใจเย็นและเหมาะสมกับวัยของลูก เพราะเด็ก 6 ขวบ อาจจะยังต้องการพ่อแม่คอยช่วยแก้ปัญหาให้ แต่เด็กวัยรุ่นอาจจะแค่อยากพูดอยากระบายให้พ่อหรือแม่ฟังเฉยๆ การช่วยเหลือลูกควรเป็นไปตามความเหมาะสมกับวัย ความเชื่อมั่นในตัวเองจะมากขึ้นเมื่อลูกรู้สึกว่าเค้าสามารถแก้ปัญหาต่างๆได้เอง
พ่อแม่ทุกคนต่างหวังเหมือนๆกันว่า วันใดที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว ลูกจะดูแลตัวเองได้และต่อสู้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆได้ด้วยตัวเอง หากคุณพ่อคุณแม่ปลูกฝังความเชื่อมั่นในตนเองให้ลูกแล้ว มั่นใจได้เลยว่า ลูกจะสู้ต่อไปได้อย่างเข้มแข็งและอยู่ได้อย่างมีความสุขในโลกใบนี้อย่างแน่นอน
#kidsup #parenting #cyberbullying #selfesteem #selfconfidence
#เลี้ยงลูก #ดูแลลูก #พัฒนาการเด็ก #ดูแลตัวเอง #ครอบครัว #เด็กและครอบครัว #แม่และเด็ก