top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนKids Up

ช่วยด้วย พ่อแม่ฉันเป็นเฮลิคอปเตอร์

อัปเดตเมื่อ 6 ก.ย. 2561


Helicopter Parents เป็นการเปรียบเปรยพ่อแม่ที่ชอบจับตาดูลูกไม่ห่าง เปรียบเหมือนเฮลิคอปเตอร์ หรือโดรนที่คอยสอดส่อง ล่วงล้ำอาณาเขตความเป็นส่วนตัวของเด็กตลอดเวลาจน “มากเกินไป” พ่อแม่เหล่านี้มักจะรู้สึกรับผิดชอบต่อลูก “มากเกินไป” ไม่ว่าจะเป็นการเล่น การเรียน การกิน การนอน โดยเฉพาะเมื่อเด็กประสบความสำเร็จหรือทำผิดพลาด


นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน กล่าวว่า การก้าวล่วงเข้าไปในชีวิตลูก เข้าไปควบคุมมากเกินไป ปกป้องมากเกินไป ต้องการให้เค้าเป็นคนดีไม่มีที่ติเลยนั้น เกินเลยคำว่าเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองไปมาก


ยกตัวอย่างเช่น พ่อแม่เข้าไปก้าวก่ายกิจการของโรงเรียน หรือทีมกีฬา เลือกครูหรือโค้ชให้ลูกโดยมองว่า สำหรับลูกแล้วต้องเป็นครูคนนั้น โค้ชคนนี้ เพื่อนคนนั้น กิจกรรมแบบนี้ และการช่วยลูกทำการบ้านหรือทำโปรเจค ถือเป็นการก้าวข้ามความเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองไปมาก ผู้ปกครองควรจะช่วยงานลูกอย่างพอดี เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่ผู้ทำ สุดท้ายออกมาไม่รู้ว่าเป็นผลงานของลูก หรือพ่อแม่กันแน่


นอกจากนั้น การที่พ่อแม่ไม่ให้ลูกมีเวลา “อยู่คนเดียว” เลยนั้น เป็นสิ่งที่เรียกว่า ดูแลมากเกินไปเช่นกัน (การอยู่คนเดียวในที่นี้หมายถึงการให้เวลาส่วนตัว ไม่ได้หมายถึงการทอดทิ้งให้ลูกอยู่คนเดียวในบ้านจนเกิดอันตราย)

จากการศึกษาของนักจิตวิทยาชาวอเมริกัน พบว่า สาเหตุที่พ่อแม่เป็นเฮลิคอปเตอร์ เนื่องจาก

  • ความกลัวในผลที่จะเกิดขึ้นตามมา (Fear for dire consequences.) การมีผลการเรียนต่ำ การถูกจัดอยู่ในห้องเรียนที่ไม่ดี ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะช่วยทำให้ลูกเกรดดีขึ้นได้ หรือทำให้ผลที่ตามมานั้นดีขึ้นได้ และถึงแม้ว่าพ่อแม่สามารถปกป้องลูกจากความไม่มีความสุข ความล้มเหลว การดิ้นรน การไม่เป็นที่หนึ่ง การทำงานหนักแต่ไม่ได้รับผลที่น่าพอใจ แต่พ่อแม่ควรจะปล่อยไปให้ลูกเผชิญกับประสบการณ์เหล่านั้นเองบ้าง เพราะมันไม่ได้คอขาดบาดตายถึงกับทำให้ลูกถึงแก่ชีวิต

  • ความกังวล (Feeling of anxiety.) ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจ การจ้างงาน หรือความเป็นไปของสังคมภายนอกทำให้พ่อแม่รู้สึกว่าต้องทำหน้าที่คอยปกป้องลูกจากอันตรายเหล่านั้น พ่อแม่ที่กังวลมาก ก็จะดูแลลูกตัวเองอย่าใกล้ชิดมาก เพราะเชื่อว่าจะสามารถปกป้องลูกจากความเจ็บปวดและความผิดหวังได้

  • การชดเชยให้ลูกมากเกินไป (Over compensation.) ผู้ใหญ่ที่รู้สึกไม่ได้รับความรัก รู้สึกว่าถูกเมินเฉย หรือรู้สึกว่าตนถูกทอดทิ้งในอดีต ก็จะไปชดเชยสิ่งเหล่านั้นให้ลูกตนเอง การดูแลเอาใจใส่มากเกินไป หรือการตรวจสอบมากเกินไปนั้นก็เพราะพ่อแม่รู้สึกว่าตนต้องพยายามไม่ให้ลูกขาดสิ่งที่ตนไม่เคยมีในอดีต

  • การกดดันจากพ่อแม่ท่านอื่น (Peer pressure from other parents.) เมื่อพ่อแม่ที่ไม่ได้ดูแลลูกตนเองอย่างใกล้ชิดมาก มองเห็นพ่อแม่ท่านอื่นดูแลลูกตนเองอย่างดี รู้สึกกดดัน ทำให้พ่อแม่บางท่านต้องหันมาดูแลลูกตนเองอย่างใกล้ชิดบ้าง พ่อแม่บางท่านรู้สึกผิดถ้าไม่สละเวลาลงไปดูแลชีวิตลูกเหมือนพ่อแม่ที่เป็นเฮลิคอปเตอร์เหล่านั้น

พ่อแม่ที่เป็นเฮลิคอปเตอร์ไม่ได้มีประสงค์ร้ายต่อลูกแต่ประการใด ตรงกันข้ามกลับมีแต่ความหวังดีให้ลูก แต่มันเป็นเส้นบางๆที่แบ่งระหว่างความ “เข้าไปยุ่งมากเกินไป” กับ “ปล่อยมากเกินไป”


สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อพ่อแม่เป็นพ่อแม่เฮลิคอปเตอร์

  • ทำให้ลูกไม่มีความมั่นใจในตัวเอง (Decreased confidence and self-esteem.) ขาดความภูมิใจในตัวเอง เกิดจากการที่พ่อแม่ไม่มั่นใจในตัวลูกให้ทำเอง

  • ทำให้ลูกขาดความสามารถในการต่อสู้ด้วยตนเอง (Undeveloped coping skills.) ไม่มีความเข้มแข็ง เพราะพ่อแม่คอยปกป้องไม่ให้ปัญหาเกิด คอยรับผิดชอบในสิ่งที่ลูกๆทำพลาดไว้ตลอดเวลา ลูกเองไม่สามารถรับกับความสูญเสีย ความผิดพลาด หรือความผิดหวังได้ การเป็นเฮลิคอปเตอร์ของพ่อแม่ทำให้ลูกรู้สึกว่าตนอ่อนแอ (less competent) สู้คนอื่นไม่ได้ สู้กับชีวิตตัวเองไม่ได้

  • ทำให้ลูกเกิดความกังวล (Increased anxiety.) จากการศึกษาในอเมริกาพบว่า การตรวจสอบลูกมากเกินไป ทำให้ลูกเกิดความกังวล และกดดัน

  • ขาดความเป็นตัวตน (Sense of entitlement.) เด็กที่พ่อแม่บังคับให้ทำตามตารางตลอดเวลา จะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีสิทธิ ขาดความเป็นตัวตนทั้งในบ้านและในโรงเรียน ตรงกันข้าม หากพ่อแม่ตั้งต้นจากความต้องการของเด็กในการทำกิจกรรมต่างๆ จะทำให้เด็กรู้สึกถึงการยอมรับ และความมีตัวตนมากขึ้น

  • ดำเนินชีวิตด้วยตัวเองไม่เป็น (Undeveloped life skills.) การให้ลูกผูกเชือกรองเท้า ทำงานบ้าน ทำความสะอาดรองเท้าตัวเอง จัดของไปโรงเรียนเอง เดินทางกลับบ้านเอง ทำให้เด็กเติบโตโดยมีความสามารถที่จะดำเนินชีวิตด้วยตัวเองเมื่อโตขึ้น

Free Downloadable Photos from Pexels.com #helicopterparenting #parenting #เลี้ยงลูก #ดูแลลูก

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อไม่กลายเป็นเฮลิคอปเตอร์

จะทำอย่างไรให้เราสามารถรักและดูแลลูกได้โดยไม่ปิดโอกาสให้เค้าเรียนรู้เรื่องการใช้ชีวิต


นักจิตวิทยาชาวอเมริกันแนะนำว่า เราควรใช้ตาข้างหนึ่งมองไปที่ ปัจจัยที่ทำให้เกิดการเน้นย้ำ (Stressors) ความเข้มแข็งอดทน (Strengths) อารมณ์ (Emotions) และตาอีกข้างหนึ่งมองไปที่ผู้ใหญ่แบบที่เราอยากให้เค้าเป็น การทำให้เค้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่แบบที่เราวาดภาพไว้นั้น ทั้งเราและเค้าก็ต้องผ่านความทุกข์ทรมานด้วยกันทั้งคู่ นั่นหมายถึงเราที่เป็นพ่อแม่ต้องอดทน ปล่อยให้เค้าได้ดิ้นรน ปล่อยให้เค้าผิดหวัง และเมื่อความผิดพลาดเกิดขึ้น ก็ทำตัวเป็นผู้ช่วยที่ดี ช่วยให้เค้าผ่านมันไปให้ได้


การมีส่วนร่วมในชีวิตลูกในฐานะของพ่อแม่นั้น แน่นอนเป็นการแสดงให้ลูกเห็นถึงความรักและเป็นการสร้างความมั่นคงในจิตใจของเด็ก สร้างความมั่นใจให้เด็ก เป็นการวางแนวทางที่ดี และเพิ่มโอกาสในการเติบโตของเด็ก


ปัญหาคือการปกครองและเลี้ยงดูลูกเป็นไปเพราะความกลัว และการตัดสินใจต่างๆเกิดจากความกังวลของพ่อแม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับลูกในอนาคต ดังนั้นพ่อแม่ควรจะจดจำไว้ตลอดเวลาว่า “จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกบ้างเมื่อพ่อแม่ไม่ได้อยู่ข้างๆลูก” ความผิดพลาดกับความท้าทายสอนให้ลูกมีความสามารถแบบใหม่ที่บอกเค้าว่า เค้าสามารถรับมือกับความพ่ายแพ้ และความท้าทายได้


Free Non-Licenses Downloadable Picture from Pexels.com

เราควรจะพยายามมองว่า อะไรที่เด็กต้องการ?

เริ่มต้นจากเด็กจะดีกว่าเริ่มต้นจากความต้องการของเราผู้เป็นพ่อแม่เอง พ่อแม่ควรหาโอกาสที่จะถอยมาจากการช่วยลูกแก้ปัญหาตามความเหมาะสมของแต่ละวัย เพราะนั่นจะช่วยให้ลูกมีความมั่นใจ พึ่งพาตัวเองได้ และ เป็นที่พึ่งพาได้สำหรับพ่อแม่ หมายถึงต้องปล่อยให้ลูกทำในสิ่งที่เค้าสามารถทำได้ โดยประเมินจากความสามารถทางกายภาพ และ ความสามารถทางจิตใจ การช่วยลูกพับเสื้อผ้าในตอนที่เค้าอายุ 3 ขวบไม่ถือว่าคุณเป็นเฮลิคอปเตอร์ แต่การช่วยเค้าในแบบเดียวกันตอนที่เค้าอายุ 13 ขวบนั้น ถือเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง


เลิกเป็นเฮลิคอปเตอร์กันแล้ว อย่าแปลงร่างมาเป็นโดรนกันนะคะ : )


อ้างอิง https://www.parents.com/parenting/better-parenting/what-is-helicopter-parenting/

#helicopterparenting #เลี้ยงลูก #ดูแลลูก #พัฒนาการลูก

ดู 134 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page